“ประชากรโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 10 พันล้านคนในปี 2593” คำถามคือ หากต้องผลิตอาหารให้เพียงพอกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในระบบการผลิตที่ยั่งยืน โดยที่การผลิตนั้นจะต้องช่วยจำกัดหรือลดผลกระทบจากกิจกรรมในภาคการเกษตรและระบบอาหารทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ รวมถึงเชื่อมโยงวิถีชีวิตของเกษตรกรในชุมชนอย่างไรนั้น ถือเป็นคำถามที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะขาดแคลนแรงงาน การปิดพรมแดน และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อาหาร จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลทั่วโลกได้มีการเรียกร้องให้มีการผลิตห่วงโซ่อุปทานในระดับท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพาอาหารในการขยายห่วงโซ่อุปทานในระดับประเทศ ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการจำกัดการเดินทาง (Locked-down) นั้นมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะมีการซื้อผลไม้และผักสดมากขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับการสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรรายย่อย
การผลิตอาหารให้เพียงพอในระบบการผลิตที่ยั่งยืนนั้นต้องเป็นการผลิตที่ลดผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงชีพของเกษตรกร และเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้นจำเป็นต้องอาศัยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการจัดการโดยเฉพาะต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้บรรลุได้อย่างจำกัด
เกษตรกรรมยั่งยืน?
เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการใช้แนวทางในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการอาหารและช่วยลดผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ และช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ช่วยเก็บกักคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศ) รวมถึงเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการบริการทางนิเวศ และแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ แนวทางการผลิตนี้บางครั้งเรียกว่า “การทำเกษตรฟื้นฟู” (Regenerative agriculture) ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ช่วยในการฟื้นฟูความอุดสมบูรณ์ของดิน, การสร้างความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนไดออกไซต์, การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และการปรับปรุงเรื่องการจัดการน้ำ
การลดผลกระทบในการผลิตเกษตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน
การลดผลกระทบในการผลิตเกษตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องครอบคลุมการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่กระทบต่อเกษตรกร แรงงานภาคเกษตร และผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร การผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของคนในชุมชน ดังนั้นการสร้างความมั่นใจว่าการผลิตเกษตรและระบบอาหารโลกให้มีความยั่งยืนได้นั้น ประเทศต่างๆ จะต้องสร้างความสมดุลในท่ามกลางเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่ขัดแย้งกัน นักสิ่งแวดล้อมต้องการให้เกษตรกรผลิตในรูปแบบที่ยั่งยืนเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี/สารเคมีต่างๆ ในการผลิต, จำกัดการไถพรวนให้มากที่สุดควบคู่กับการปลูกพืชคลุมดิน และลดการเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเข้มข้น ในการเริ่มต้นทำระบบเกษตรดังกล่าวอาจส่งผลให้ผลผลิตลดลงในช่วงแรกจึงทำให้เกษตรกรบางรายต้องการเพิ่มหรือขยายที่ดินเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตที่อาจจะกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถ้าพิจารณาถึงการเพิ่มราคาอาหารให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกิดก็อาจจะได้รับการคัดค้านจากผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ภาพการผลิตเกษตรในปัจจุบันทั้งนักการเมือง สื่อ และอุตสาหกรรมเกษตรมักเห็นครัวเรือนเกษตรเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีการผลิตเพื่อยังชีพและสร้างเศรษฐกิจในชุมชน แม้ว่าความจริงแล้วครัวเรือนเกษตรดังกล่าวไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงหรือสร้างรายได้ที่เพียงพอให้กับครัวเรือนได้ ดังนั้น การหาแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบบการเกษตรที่ยั่งยืนให้มากขึ้น
เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มักถูกกล่าวโทษว่าเป็นคนสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งกระทบต่อระบบอาหาร ในขณะที่เกษตรกรไม่ได้เป็นคนกำหนดรูปแบบการผลิตด้วยตนเอง แต่กลุ่มคนที่กำหนดรูปแบบการผลิตนั้นคือบริษัทอาหาร ผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเลือกรูปแบบการผลิต ในส่วนผู้บริโภคเช่นเดียวกันมักตัดสินใจซื้อผลผลิตจากราคา ซึ่งแน่นอนว่าผู้ค้าปลีก ผู้จัดจำหน่าย และบริษัทอาหารจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อให้ขายได้นั้นจะกดราคาผลผลิตของเกษตรกร ที่เป็นเหตุให้เกษตรกรมักประสบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
รูปแบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้สร้างผลกระทบทางสังคมอย่างรุนแรงและหลากหลาย กล่าวคือ เกษตรกรและแรงงานภาคเกษตรเผชิญกับปัญหาการเป็นหนี้สินจำนวนมากที่ในแต่ละปีต้องหารายได้เพื่อมาชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีภาวะป่วยทางจิตที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น จากการรายงานของ the New York Times ในปี 2562 ได้ระบุว่า “เกษตรกรและแรงงานภาคเกษตรในประเทศอินเดียมากกว่า 10,000 คนฆ่าตัวตาย โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ควบคู่กับการประกาศใช้มาตรกรจำกัดการเดินทางของผู้คน (Locked-down) นั้นอาจนำไปสู่โศกนาฎกรรมนี้ต่อไป” เกษตรกรบางส่วนจำต้องขายที่ดินด้วยปัญหาภาระหนี้สินจากการลงทุนทำการผลิต และผลจากการขายที่ดินของเกษตรกรนี้ส่งผลให้ขนาดที่ดินทำเกษตรในภาพรวมเพิ่มขึ้น ดังเช่นขนาดที่ดินทำเกษตรเฉลี่ยในประเทศเยอรมนีช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในปี 2555 ขนาดที่ดินทำเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เฮกตา (375 ไร่) และแม้ว่าที่ดินมีขนาดเพิ่มขึ้นดังกล่าว เกษตรกรและแรงงานภาคเกษตรมีการอพยพออกจากภาคเกษตรสู่เมืองเพื่อหางานที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า โดยในช่วงปี 2550-2559 พบว่าสัดส่วนพื้นที่ทำเกษตรในประเทศเยอรมนีลดลงถึง 15% และจากการอพยพสู่เมืองเพิ่มขึ้นนั้นทำให้ชุมชนต้องสูญเสียฐานเศรษฐกิจสำคัญและวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนรูปแบบการผลิตดั้งเดิมและภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชน
ไม่มีระบบการเกษตรใดที่สามารถเรียกได้ว่ายั่งยืนอย่างแท้จริง ถ้าหากระบบการผลิตนั้นไม่สามารถจัดการผลกระทบหรือสร้างสมดุลในท่ามกลางเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่ขัดแย้งกัน หลายประเทศเริ่มประเมินและลดผลกระทบจากระบบการผลิตต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม หากได้ชุดข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการทำเกษตรและรูปแบบ/แนวทางการรับมือเพื่อลดต้นทุนในเชิงลึก ก็จะทำให้ประเทศต่างๆ สามารถเริ่มสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น
การแบกรับต้นทุนในการทำฟาร์ม
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนั้นมีหลากหลายทั้งในระดับพื้นที่และในระดับโลก ราคาอาหารส่วนใหญ่ไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตอาหารที่แท้จริง เกษตรกรไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดราคา ทั้งที่เกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงการผลิตตั้งแต่ปลูก ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังกรณีการศึกษาระบบการเกษตรของประเทศเยอรมนีเพื่อหาต้นทุนที่แท้จริงโดยนำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเข้ารวมด้วยให้ได้มากที่สุด เช่น การคิดต้นทุนการจัดการของเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนในเรื่องดินเสื่อมโทรม ด้วยดินสูญเสียโครงสร้างทำให้เกิดการอัดตัวแน่นที่ทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงดินที่เพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อผลผลิตที่ลดลง ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนี้ยังรวมถึงต้นทุนในเรื่องมลภาวะในอากาศและน้ำ ตลอดจนถึงค่าใช้จ่ายในการบรรเทามลพิษ การจัดหาน้ำดื่ม และปรับปรุงระบบสาธารณะสุขที่ดีขึ้น
ในขณะที่ต้นทุนของภาวะโลกร้อนนั้นเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่วนหนึ่งมาจากภาคการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตสัตว์และการจัดการดิน ตลอดจนถึงการผลิตปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชผลด้วยสารเคมี และการผลิตอาหารสัตว์ ที่สังคมต้องแบกรับต้นทุนจากผลกระทบจากกิจกรรมดังกล่าว จากผลกระทบที่ปรากฎทำให้สังคมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการบริการของระบบนิเวศ (Ecosystem services) ที่ถูกทำลาย ดังเช่น กรณีป่าอเมซอนที่ “บริการของระบบนิเวศ” เริ่มหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ป่าฝนถูกปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร จึงทำให้ความสามารถเก็บกักคาร์บอนไดออกไซต์ในบรรยากาศได้น้อยลงเนื่องจากพื้นที่ป่าฝนถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้น
แนวทางที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
การลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม จากการผลิตเกษตรจะช่วยให้เกิดระบบเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งการให้บรรลุระบบการผลิตดังกล่าวจำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญต่อระบบอาหารที่ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค, รูปแบบการผลิต, การกระจายและจำหน่ายอาหาร โดยมีแนวทางเบื้องต้นดังนี้
1)การลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรจำเป็นต้องมีการนำใช้รูปแบบการผลิตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการไถพรวนให้มากที่สุด, ปลูกพืชคลุมดิน, ทำเกษตรแม่นย่ำ (Precision farming), และลดการใช้สารเคมีในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช โดยงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนำใช้รูปแบบการผลิตดังกล่าวในประเทศเยอรมนีนั้น พบว่า ช่วยลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมได้ถึง 30% ส่วนอีก 70% จะลดลงได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร การที่จะทำให้ระบบอาหารมีความยั่งยืนมากขึ้นนั้นจำเป็นต้องปรับรูปแบบการผลิตและการบริโภคในปัจจุบันที่มีนัยยะที่สำคัญ กล่าวคือ จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกร ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค ร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารที่ในแต่ละปีมีปริมาณขยะอาหารมากถึง 1.6 พันล้านตันต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วปริมาณขยะอาหารคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ที่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นหลังจากที่เกษตรกรนำผลผลิตสู่ตลาดหรือกระจายผลผลิตผ่านช่องทางต่างๆ
2)การจำกัดต้นทุนด้านเศรษฐกิจและสังคม
แม้ว่าการจำกัดต้นทุนด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งที่ยากในการนำมาประมวลผล แต่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องให้บรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในมิติของเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวคือ การสร้างความมั่นใจว่ากิจกรรมทางการเกษตรนั้นสามารถเอื้อในเชิงเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตรได้ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญในการนำพาเศรษฐกิจควบคู่กับวิถีวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป ขณะที่การทำเกษตรปัจจุบันเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าเช่าที่ดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีในการเจริญเติบโตของพืช การลงทุนนำใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเกษตรที่ทันสมัย แต่สวนทางกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ดังกล่าว หลายประเทศมีแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรและการทำเกษตรของชุมชนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรที่ช่วยรักษาการบริการของระบบนิเวศในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังช่วยกำกับดูแลและบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงาน และค่าจ้างที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและแรงงานภาคเกษตร เป็นต้น
3)การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิต
ผู้ที่ส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่ ได้แก่ เกษตรกร ผู้ผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภคนั้น กล่าวได้ว่ามีส่วนในการสนับสนุนการทำเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน อย่างไรก็ตามเพื่อให้ไปถึงยังเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอาหาร และแม้ว่าระบบห่วงโซ่อาหารมีความซับซ้อนอย่างมีนัยสำคัญนั้น แนวทางที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทและผู้ค้าปลีกอาหาร ธุรกิจเกษตร และผู้บริโภคนั้นคือการหันมาหนุนเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นดังนี้
ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นรัฐบาลสามารถดำเนินการที่หลากหลาก เช่น เริ่มจากการออกกฎระเบียบการหนุนเสริมเกษตรกรให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เหมาะสม และเพิ่มมาตรการที่ช่วยลดการสูญเสียอาหารระหว่างกระบวนการผลิต, การจัดเก็บภาษีอาหารบางชนิดเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนสู่การบริโภคอาหารในระบบที่ยั่งยืนมากขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการอุดหนุนเงินบางส่วนสนับสนุนการผลิตให้กับเกษตรกร, การออกนโยบายด้านเกษตรที่มุ่งเน้นการผลิตอาหารในระบบการผลิตที่ยั่งยืนมากกว่าการให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด, การออกนโยบายการค้าที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการนำเข้า-ส่งออก และกระบวนการผลิตของผลผลิตนั้นๆ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน: เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่ผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาให้ 1) การอุดหนุนเกษตรกรในด้านความรู้ เช่น แนวทางการจัดการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม ฯลฯ, 2) การอุดหนุนเงินบางส่วนให้กับเกษตรกรที่ช่วยรักษา “การบริการของระบบนิเวศ” ในพื้นที่, และ 3) การสนับสนุนงานวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการวางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ดังเช่น ในสหภาพยุโรปได้ออกยุทธศาสตร์ “Farm to Fork Strategy” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภค จนถึงลดการสูญเสียอาหารในระหว่างกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าหมาย 1) ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช รวมถึงยาต้นจุลชีพในสัตว์ ร้อยละ 50, 2) ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ร้อยละ 20, 3) เพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 25 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี 2573
บริษัทอาหารและร้านค้าปลีก
บริษัทที่ทำธุรกิจอาหารนั้นมีบทบาทสำคัญในระบบอาหารและความเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยเฉพาะการขนส่งและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่พบว่าเกิดขยะอาหารเพิ่มเป็นจำนวนมาก ดังนั้น บทบาทสำคัญของบริษัทหรือร้านค้าปลีกที่ทำธุรกิจอาหารนั้นควรตระหนักถึงปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นโดยต้องมีกระบวนการจัดการที่ช่วยลดขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำโดยการส่งเสริมการจำหน่ายอาหารที่ผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนผ่านการกำหนดราคาและการส่งเสริมการขายที่เป็นธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานและแหล่งที่มาของอาหาร รวมถึงอาจสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านการดำเนินการดังกล่าวในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
อ้างอิง: Torsten Kurth, Alexander Meyer zum Felde, Holger Rubel, and Sophie ZielckeThe. (2020). True cost of Food. https://www.bcg.com/publications/2020/evaluating-agricultures-environmental-costs
Leave a Reply